
เมื่อเวลา 21.30 น. วันที่ 3 พ.ค.2558 ที่กองบังคับการตำรวจภูธร จ.นครศรีธรรมราช พ.ต.อ.อนุชนต์ ชามาตย์ รอง ผบก.ภ.จว.นครศรีธรรมราช ได้นัดพนักงานสอบสวนจากพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 9 เพื่อมาสอบสวนพยาน 2 ปาก ซึ่งพยานปากแรกคือนายกูราเมีย ที่คาซิมหลานชายที่เดินทางมาจากรัฐยะไข่ ประเทศพม่า ถูกจับเรียกค่าไถ่ โดยถูกกักตัวอยู่ที่ป่าแห่งหนึ่งใน อ.สะเดา จ.สงขลา จนถูกนายอานัว และพวก ฆ่าตายฝังศพไว้ในป่าสวนยางใน อ.สะเดา จ.สงขลา ส่วนพยานปากที่ 2 คือนายโซฟิก ซึ่งขณะเกิดเหตุถูกจับกักขังอยู่ในที่เดียวกันกับนายคาซิม จึงเห็นเหตุการณ์ที่นายอานัวพร้อมพวกรุมทำร้ายทุบตีนายคาซิม จนเสียชีวิต ซึ่งหลังจากที่ญาติ ๆ นายโซฟิก จ่ายเงินค่าไถ่ให้นายอานัวและพวก จึงได้รับการปล่อยตัวจึงตดสินใจเข้าเป็นพยานให้กับนายกูราเมียจนนำไปสู่การออกหมายจับกุมนายอานัวและตำรวจถูกติดตามจับกุมตัวได้ที่ จ.นครศรีธรรมราช และมีการขยายผลไปจนถึงแคมป์สถานที่กักขังโรฮิงญา รวมทั้งจุดฝังศพหรือสุสานโรฮิงญาที่ถูกฆ่าจำนวนมากใน อ.สะเดา จ.สงขลา
ผู้สื่อข่าวรายงานการสอบสวนปากคำนายกูราเมีย และนายโซฟิก เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องใช้ขอความร่วมมือจากนายโซฟี มูอัมหมัด เป็นล่ามแปลภาษา โดยนายกูราเมีย เปิดเผยผ่านล่ามว่าเข้ามาทำงานอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราชประมาณ 17 ปีแล้ว และรู้จักกับนายอานัว นายหน้าค้าแรงงานโรฮิงญามาก่อนเพราะนายอานัว ก็อยู่ใน จ.นครศรีธรรมราชเช่นเดียวกัน ต่อมานายอานัวได้ติดต่อกับตนว่านายคาซิม หลานชายตนที่เดินทางมาจากรัฐยะไข่ ประเทศพม่า ถูกนายอานัวและพวกจับไปกักขังไว้แล้วหากต้องการตัวนายคาซิมให้จ่ายค่าไถ่ 120,000 บาท ตนจึงพยายามติดต่อกับญาติ ๆ ในประเทศพม่า ขายที่ดินและทรัพย์สินได้เงินมาจำนวนหนึ่งแต่ยังไม่เพียงพอ จึงหยิบยืมเงินจากญาติ ๆ และเพื่อน ๆ ที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยได้ 95,000 บาท หลังจากที่โอนเงินให้ไปแล้วปรากฏว่าไม่ยอมติดต่อกลับมาอีกเลย จนกระทั่ง 15 วันผ่านไปได้เรียกเงินเพิ่มอีก 120,000 บาท แต่ไม่มีเงินให้อีก จึงตัดสินใจเข้าแจ้งความที่ สภ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช จนกระทั่งนายอานัวรู้ว่าได้เข้าแจ้งความกับตำรวจจึงรุมทำร้ายนายถูกฆ่านายคาซิมหลานชาย

ทางด้านนายโซฟิก ประจักษ์พยานที่เห็นเหตุการณ์ในขณะที่นายอานัวและพวกรุมฆ่านายคาซิม ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวผ่านนายโซฟี มูอัมหมัด ซึ่งเป็นล่ามว่า ตนถูกหลอกให้เดินทางออกมาจากรัฐยะไข่ ประเทศพม่าโดยกลุ่มนายหน้าอ้างว่าจะนำไปทำงานในมาเลเซียราว 6 เดือนก่อนจึงค่อยจ่ายเงินให้กับนายหน้า แต่หลังจากเดินทางเข้ามาประเทศได้ถูกกักตัวอยู่ใน อ.สะเดา จ.สงขลา สถานที่เดียวกับที่เจ้าหน้าที่เข้าไปค้นพบหลุมศพ หรือสุสานโรฮิงญา โดยขณะที่อยู่ในแคมป์กักขังเห็นเหตุการณ์ชาวโรฮิงญาถูกฆ่าตายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากจุดดังกล่าวแล้วยังมีจุดกักขังอื่น ๆ ตลอดแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย โดยชาวโรฮิงญาถูกฆ่าตายไปมากกว่า 500 คน รวมทั้งได้เห็นเหตุการณ์ชัดเจนตอนที่นายคาซิม ถูกนายอานัวและพวกรุมทุบตีจนเสียชีวิตในเวลาต่อมา
“จนต่อมาแม่ของตนที่อยู่ในประเทศพม่ายอมขายที่ดินเพื่อเงินโอนมาไถ่ตัวจำนวน 6,000 ริงกิต ตนจึงได้รับการปล่อยตัวออกมาจากสถานที่กังขังดังกล่าว และมาทำงานอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อทราบว่านายกูราเมีย แจ้งความกับตำรวจ สภ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ตนจึงตัดสินใจเข้ามาเป็นพยานในคดีนี้เพราะเป็นคนเห็นเหตุการณ์ตอนที่นายอานัวพร้อมพวกฆ่านายคาซิม อย่างชัดเจน จนตำรวจสามารถออกหมายจับและตามจับกุมนายอานัวได้ นำไปสู่การตรวจค้นจุดกักขังและขุดหาศพพบจำนวนมาก”

นายโซฟิก กล่าวอีกว่าชาวโรฮิงญาถูกกักขังหรือควบคุมตัวอยู่ในจัดดังกล่าวประมาณ 700-800 คนแต่หากทราบว่าเจ้าหน้าที่จะเข้าไปตรวจค้นจะหลบเข้าไปในป่าฝั่งมาเลเซียที่อยู่ห่างไปราว 200 เมตร ซึ่งตลอดแนวชายแดนหลายจุดยังมีชาวโรฮิงญาถูกกักขังรอญาติจ่ายเงินค่าไถ่อีกนับพันคน ซึ่งในช่วงที่ผมอยู่ในสถานที่กักขัง ชาวโรฮิงญา จะคนถูกฆ่าตายด้วยวิธีการตีด้วยท่อนไม้ขนาดใหญ่จนตายหรือยิงทิ้งราว 17-20 ศพ แต่จะไม่รู้ว่าเขานำไปฝังที่ไหน โดยนายคาซิม หลายนายกูราเมีย หลังถูกนายอานัวตีและพวกรุมตีจนตายนายอานัวก็จะกลับออกไป แต่ได้สั่งให้ลูกน้องอีก 2 คนซึ่งตนให้การระบุชื่อทั้ง 2 คน ให้กับเจ้าหน้าที่ไปเรียบร้อยแล้ว เป็นคนจัดการนำศพนายคาซิมไปฝัง”นายโซฟิก กล่าวยืนยัน
“ส่วนโรฮิงญาคนอื่น ๆ ที่ไม่มีเงินไถ่ตัวหรือไม่มีญาติโดนเงินมาไถ่ตัวมักจะถูกตีจนบาดเจ็บสาหัสและจะไม่มีการรักษาพยาบาลใด ๆ จนไม่สามารถทนความเจ็บปวดได้หรือจับไข้จนตายไปในที่สุด โดยช่วงเดือนมกราคม 2558 ที่ผ่านมา ชาวโรฮิงญาถูกกักอยู่ที่นี่ได้ถูกเจ้าหน้าที่หน่วยงานหนึ่งเข้าจับกุมมาแล้ว แต่มีการเจรจาจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่ก้อนใหญ่จนทั้งหมดถูกปล่อยไป สำหรับเจ้าของสถานที่กักขังจุดนี้ชาวไทยมุสลิม 2 ผัวเมียชื่อว่า “ บังฉี” และ “ฟารีดา” จะเข้ามาติดตามความตรวจสอบทั้งจำนวนคนและยอดเงินที่ได้จากการไถ่ตัวรวมทั้งจ่ายเงินเคลียร์เจ้าหน้าที่”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการในการสอบสวนพยานทั้ง 2 ปากเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปถ่ายภาพทำข่าว และเมื่อทราบว่าสื่อมวลชนได้ชิงสัมภาษณ์นายกูราเมียและนายโซฟิก ไปก้อนหน้าแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แสดงความไม่พอใจพยานทั้ง 2 ปากรวมทั้งนายโซฟี มูฮัมหมัด ที่เป็นล่าม โดยอ้างว่าการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนอาจจะส่งผลกระทบต่อสำนวนในคดีนี้ได้ รวมทั้งพยานทั้ง 2 ปากอาจจะไม่ปลอดภัยจากนายทุนค้าแรงงานข้ามชาติก็เป็นได้.
\
ไพฑูรย์ อินทศิลา /กัญญาณัฐ เพ็ญสวัสดิ์ /นครศรีธรรมราช
3 พ.ค. 2558