
วันนี้(23 มิ.ย.59) เวลา 09.00 น. ที่ห้องดอกบัว โรงแรมทวินโลตัสนครศรีธรรมราช นายพงศ์เทพ ไข่มุกด์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนากลุ่มย่อยลักษณะโฟกัสกรุ๊ป(Focus Group) ภายใต้การศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์(SEA) สำหรับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. กระทรวงคมนาคม ร่วมกับกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาจัดขึ้น เพื่อนำเสนอผลการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์สำหรับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ และร่างแผนแม่บทสำหรับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนได้แสดงข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อผลการศึกษา สำหรับนำไปปรับปรุงแผนแม่บทสำหรับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ตามขั้นตอนต่อไป โดยเน้นประเด็นหลัก 4 มิติ คือ มิติสิ่งแวดล้อม มิติเศรษฐกิจ มิติสังคม และมิติเทคโนโลยี
สำหรับการประชุมครั้งนี้ มีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน(NGOs) นักวิชาการ และภาคประชาชนด้านฝั่งทะเลอ่าวไทย จากจังหวัดนครศรีธรรมราช ชุมพร สุราษฎร์ธานี สงขลา ปัตตานีนราธิวาส และยะลา จำนวน 70 คน สำหรับด้านฝั่งทะเลอันดามัน จะจัดประชุมในจังหวัดกระบี่ โดยจะเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากจังหวัดกระบี่ ระนอง พังงา ภูเก็ต ตรัง และสตูล

นายพงศ์เทพ ไข่มุกด์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ เป็นสิ่งสำคัญที่ประชาชนชาวใต้จะต้องรับรู้ รับทราบ และยอมรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราในปัจจุบันการพัฒนาในภาคใต้ ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ เนื่องจากการขาดการบูรณาการร่วมกันกันระหว่างหน่วยงานของภาครัฐ ส่งผลให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง มีข้อมูลภาพรวมของการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ในอนาคตไม่ชัดเจน รวมทั้งขาดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างภาครัฐและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์และผลกระทบที่อาจจะเกิดต่อตนเองและ/หรือของพื้นที่จากการพัฒนาดังกล่าว ท้ายสุดแล้วจะก่อให้เกิดการไม่ยอมรับจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทำให้หน่วยงานภาครัฐไม่สามารถดำเนินโครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ได้ ดังนั้นการศึกษานี้จึงได้นำบทเรียนการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ในอดีตที่ผ่านมาและเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ภาครัฐ ภาคเอกชน และ NGO เพื่อบูรณาการแนวทางในการพัฒนาร่วมกัน ระดมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่มีต่อการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ เพื่อให้ได้แผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ที่เป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

นายนครินทร์ สัทธรรมนุวงศ์ ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า จากการวิเคราะห์และการรับฟังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่สามารถสรุปได้ว่า ทิศทางการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ คือ ทางเลือก 2+ (สองบวก) คือ การพัฒนาตามศักยภาพของทรัพยากรที่มีอยู่ของภาคใต้ ได้แก่ การเกษตร อุตสาหกรรมแปรรูป และการท่องเที่ยว และให้พัฒนาศักยภาพของทรัพยากรเพิ่มเติมจากระดับที่มีอยู่ให้สูงขึ้น โดยเฉพาะศักยภาพด้านการท่องเที่ยว การพัฒนาการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่(การท่องเที่ยวทางเรือสำราญ ,Home Stay,การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ฯลฯ) การเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว การเพิ่มระยะเวลาการพำนักของนักท่องเที่ยว และการเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อวันของนักท่องเที่ยว เป็นต้น และจากการ SWOT Analysis สำหรับจุดแข็งของภาคใต้ คือ เป็นแหล่งเกษตรกรรมที่อุดมสมบูรณ์ และสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรต่อเนื่อง มีทรัพยากรท่องเที่ยวที่สวยงาม มีความหลากหลายทั้งทางบกและทางทะเล มีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่แข็งแกร่ง และมีภูมิประเทศที่เหมาะสมเป็นศูนย์กลางของการขนส่งในระดับภูมิภาคและระดับสากล ส่วนจุดด้อย ได้แก่ ขาดแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวในระดับภูมิภาคและบูรณาการ การคมนาคมเชื่อมต่อยังไม่สมบูรณ์ โครงสร้างพื้นฐานไม่เพียงพอที่จะรองรับการพัฒนาในอนาคตและการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ และความพอเพียงของพลังงานที่สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งแผนแม่บทสำหรับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ที่ได้ข้อสรุปแล้วจะมีการนำเสนอรัฐบาลและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในภาคใต้ต่อไป
ส.ปชส.นครศรีธรรมราช
23 มิถุนายน 2559