
(24 มี.ค.) นายสมเกียรติ ทิศนุ่น ประธานชมรมคนลุ่มน้ำพึ่งพาตนเอง เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากจังหวัดนครศรีธรรมราชว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.มอบหมายให้ พล.อ. ธนะศักดิ์ ปฏิมาปกรณ์ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางลงพื้นที่ติดตามปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.หัวไทร และ อ.ปากพนัง ในวันที่ 30 มี.ค.59 นี้ ตามหมายกำหนดการดังกล่าวได้ถูกเลื่อนออกไปโดยไม่มีกำหนด เนื่องจาก พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาปกรณ์ รองนายกรัฐมนตรี ติดภารกิจเร่งด่วน ส่วนจะมีกำหนดเดินทางไปจังหวัดนครศรีธรรมราชวันไหนจะแจ้งให้ทราบอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง
ในขณะที่นายไพโรจน์ รัตนรัตน์ อดีตนายก อบต.ปากพนังฝั่งตะวันออก คณะทำงานทวงคืนโฉนดทะเล กล่าวว่า ตามกำหนดการเดิมที่ชมรมคนลุ่มน้ำพึ่งพาตนเองและคณะทำงานศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ทวงคืนโฉนดทะเล เตรียมเอกสารหลักฐานโฉนดทะเลและหนังสือร้องเนียนขอความช่วยเหลือจากนายกรัฐมนตรี เข้ายื่นต่อ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาปกรณ์ รองนายกรัฐมนตรีในวันที่ 30 มี.ค. 2559 เมื่อกำหนดการเดินทางของ พล.อ.ธนะศักดิ์ เลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดทางศูนย์ ฯจะนัดประชุมคณะทำงานทั้ง ค ตำบล 2 อำเภอมาร่วมปรึกษาหารือ สรุปถึงการดำเนินการที่ผ่านมาและแนวทางการการเรียกร้องต่อไป โดยจะตรวจสอบกำหนดการเดินทางลงพื้นที่ของ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาปกรณ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่แน่ชัดอีกครั้ง หากกำหนดการเลื่อนออกไปไม่นานนักทางศูนย์ ฯก็จะรอยื่นเรื่องร้องเรียนพร้อมเอกสารหลักฐานกับท่านรองนายกรัฐมนตรี แต่หากกำหนดการเลื่อนออกไปนานกว่า 15 วันทางศูนย์ ฯจะได้หารือกำหนดวันเดินทางนำเรื่องร้องเรียนพร้อมเอกสารหลักฐานโฉนดทะเลเดินทางเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ทำเนียบรัฐบาลต่อไป
อดีตนายก อบต.ปากพนังฝั่งตะวันออก กล่าวว่า สำหรับกรณีที่กรมเจ้าท่าดำเนินการปักหมุดเพื่อแสดงเขตพื้นที่ทะเลขึ้นถึงที่อยู่ในการดูแลของกรมเจ้าท่าทั้ง ๆ ที่ยังไม่เข้าเงื่อนไขตามกฎหมายที่ว่าจะต้องเกิน 10 ปี และเจ้าของที่ดินตามเอกสารสิทธิ์หรือโฉนดปล่อยทิ้งไม่สนใจที่จะหวงแหนที่ดินที่ถูกน้ำกัดเซาะ ซึ่งในข้อเท็จจริงที่ดินทุกแปลงที่กลายเป็นโฉนดทะเลชาวบ้านยังหวงแหนและพยายามจะปักหลักแสดงแนวเขตที่ดินของตัวเอง กรมเจ้าท่าจึงไม่น่าจะมีสิทธิ์หรืออำนาจเข้าไปปักหมุดแนวเขตเพื่อแสดงว่าที่ดินของชาวบ้านกลายเป็นของหลวงอยู่ในการดูแลของกรมเจ้าท่า ที่ผ่านมาชาวบ้านอาจจะไม่ทราบในข้อกฎหมายและแนวทางการปฏิบัติเพื่อรักษาสิทธิ์ในที่ดินตามแนวที่ดินของตัวเอง ที่สำคัญเมื่อน้ำทะเลขึ้นถึงจุดใดกรมเจ้าท่าจะทำการปักหมุดแสดงแนวเขตที่น้ำทะเลขึ้นถึงและแจ้งกับชาวบ้านว่าตามกฎหมายน้ำทะเลขึ้นถึงไหนพื้นที่นั้นก็จะตกเป็นของหลวงไปโดยปริยาย ชาวบ้านจึงไม่ได้โต้แย้ง แต่เมื่อทางอธิบดีกรมที่ดินและเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครศรีธรรมราชมาอธิบายชี้แจงระเบียบขั้นตอนและแนวทางข้อกฎหมาย เจ้าของโฉนดทะเลจึงได้รับทราบว่าแม้ว่าที่ดินตามโฉนดจะถูกคลื่นพัดถล่มกัดเซาะกลายเป็นทะเลไม่เหลือสภาพพื้นที่เดิมก็ตาม หากยังไม่เกิน 10 ปี และยิ่งเจ้าของที่ดินพยายามจะแสดงความหวงแหนที่ดินโดยการปักแนวเขตหรือทำประโยชน์ใด ๆ ในพื้นที่ตามโฉนดที่ดินเดิมยังถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของโฉนด พื้นที่ไม่ได้เป็นของหลวงตามที่เจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่าชี้แจงอ้างกับประชาชนมาตลอด

“เมื่อประมาณ 1 เดือนก่อนตนได้รับการร้องเรียนประชาขนในพื้นที่หมู่ 7 ต.หน้าสตน อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ว่าเจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่าได้เข้าไปปักหมุดหลักเขตแนวน้ำทะเลขึ้นถึงบริเวณใต้ถุนบ้านของชาวบ้านคนหนึ่ง โดยเจ้าของบ้านเข้าใจว่าพื้นที่เดิมได้กลายเป็นของหลวงในความดูแลของกรมเจ้าท่าไปเรียบร้อยแล้ว หากไม่รื้อโยกย้ายออกจากพื้นที่เกรงกลัวว่ากรมเจ้าท่าจะฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมาย และในวันนี้ตนเดินทางมาตรวจสอบพบว่าบ้านหลังดังกล่าวได้ย้ายหนีคลื่นไปอยู่ที่ใหม่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าของโฉนดทะเลหลายรายต้องประสบปัญหาในลักษณะเดียวกัน จึงอยากให้กรมที่ดิน กรมเจ้าท่าและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือถึงความชัดเจนในแนวทางปฏิบัติตามกฎหมายในกรณีนี้ให้ชัดเจน นอกจากประชาชนเจ้าของโฉนดที่ดินจะสูญเสียที่ดิน ทรัพย์สินไปแล้วยังต้องเสี่ยงต่อการถูกกรมเจ้าท่าฟ่องร้องดำเนินคดี มันโหดร้ายทารุณมากเกินไปสำหรับหน่วยงานรัฐที่ปฏิบัติต่อประชาชน
“หากข้อกฎหมายเป็นไปตามที่อธิบดีกรมที่ดินชี้แจงยืนยัน ถือว่าการเข้าไปปักหลักหมุดแสดงแนวเขตน้ำทะเลขึ้นถึงและทึกทักเอาว่าที่ดินดังกล่าวกลายเป็นของหลวงเท่ากับว่ากรมเจ้าท่าปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในเรื่องนี้กรมเจ้าท่าเป็นโจทก์และเจ้าของโฉนดที่ดินตกเป็นจำเลยมาตลอด แต่ในข้อกฎหมายเจ้าของโฉนดที่ดินคือโจทก์ส่วนกรมเจ้าท่าคือจำเลยตัวจริง” นายไพโรจน์ กล่าว.
ไพฑูรย์ อินทศิลา /กัญญาณัฐ เพ็ญสวัสดิ์ /นครศรีธรรมราช
25 มี.ค. 2559