นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี รับปากว่าจะเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ คืนมาจากบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ภายใน 1-2 สัปดาห์ ส่วนตัวเห็นว่าหากเป็นในมุมของ กสทช.ดำเนินการอาจจะยังนำมาเรียกคืนและจัดสรรไม่ได้ในเร็ววัน แม้คลื่นความถี่ย่านดังกล่าวอยู่ในแผนแม่บทการจัดสรรคลื่นความถี่ของ กสทช.ก็ตาม เนื่องจากปัจจุบันคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ อยู่ในการครอบครองของ อสมท ซึ่งได้ทำสัญญาสัมปทานกับบริษัท อินเตอร์เนชั่นเนิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) เพื่อให้บริการทีวีบนมือถือแล้ว
นายประวิทย์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ได้พิจารณาแล้วพบว่าการทำสัญญาสัมปทานของ อสมท บนคลื่นความถี่ย่าน 2600 เกิดขึ้น ในปี 2554 หลังจากที่มี พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 การจัดสรรคลื่นความถี่ต้องเป็นระบบใบอนุญาตโดย กสทช.เท่านั้น การกระทำของ อสมท จึงขัดต่อกฎหมาย แต่ อสมท ก็ใช้สิทธิยื่นข้อโต้แย้งมาที่ กสท. ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะทำงานร่วมระหว่าง กสท.และ กทค.คาดจะรู้ผลใน 1-2 เดือน
"หากมีคำสั่งให้ยกเลิกสัญญาสัมปทานและเรียกคืนคลื่นความถี่ 2600 เชื่อว่าเรื่องต้องไปจบที่ศาลแน่ จึงเป็นไปได้สูงที่คลื่นนี้จะไม่ได้เปิดประมูลปีนี้" นายประวิทย์กล่าว
นายประวิทย์กล่าวว่า ในส่วนของการจัดประมูล 4จี บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่คณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (บอร์ดดีอี) มีมติให้เปิดประมูลได้ในเดือนสิงหาคมนั้น เบื้องต้น กสทช.ได้จัดทำหลักเกณฑ์การประมูลไว้เสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่ก่อนที่มีคำสั่งระงับการประมูลจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) แต่มีบางจุดที่จะต้องพิจารณาแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล และจากกระบวนการแก้ไขดังกล่าวอาจมีผลทำให้การประมูลล่าช้ากว่าที่กำหนดได้ โดยเฉพาะการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่เพื่อกำหนดราคาตั้งต้นการประมูล ที่ กสทช.มอบหมายให้สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ดำเนินการ เพราะไอทียูไม่เคยทำหน้าที่ประเมินมูลค่าคลื่นความถี่มาก่อน การดำเนินการต้องจ้างบริษัทเอกชนอีกต่อจึงอาจเกิดความล่าช้าได้ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าควรดำเนินผ่านสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานที่มีความรู้ด้านดังกล่าวโดยตรง 2 แห่งขึ้นไปจะได้ประโยชน์มากกว่า
ที่มา : http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1427068357
วันที่ 23 มีนาคม 2558