โดยมีเงื่อนไขสำคัญในวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าจะให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีทุกคน พ้นสภาพไปหรือไม่ กรณีการโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด
หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ปฏิบัติหน้าที่นายกฯและ ครม.พ้นสภาพ ย่อมส่งผลให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขให้ทั้งสองกลุ่มที่ชุมนุมทางการเมืองนำมวลชนออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนและคัดค้านแนวทาง"รัฏฐาธิปัตย์" ที่มวลชนกลุ่ม กปปส.ออกมานำเสนอแนวทางดังกล่าว
แน่นอนมวลชนกลุ่ม นปช. และกลุ่มพลังที่สาม ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทาง"รัฏฐาธิปัตย์" จะออกมาแสดงพลังต่อต้าน เพื่อไม่ให้แนวทางดังกล่าวเกิดขึ้นได้ เพราะขัดทั้งหลักกฎหมายและรัฐธรรมนูญ หากยังดึงดันจะให้เกิดรูปแบบ รัฏฐาธิปัตย์ คงต้องมีการฉีกรัฐธรรมนูญ และสุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่ความรุนแรงหากมีการเผชิญหน้าของมวลชน ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
สำหรับทิศทางการเมืองในโหมดที่ทุกฝ่ายเปิดหน้าชกกันอย่างเต็มที่หลังจากนี้นั้นพล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธี สถาบันพระปกเกล้า ประเมินว่า กรณีที่กลุ่มผู้ชุมนุม กปปส.และ นปช.ท้าดวลวัดระดับมวลชน ในวันที่ศาลรัฐธรรมนูญและ ป.ป.ช.จะวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ว่า เป็นเพียงการแสดงกำลังเท่านั้น เหมือนวันที่ นปช.ชุมนุมบริเวณถนนอักษะเมื่อช่วงวันที่ 5-6 เมษายนที่ผ่านมา และเชื่อว่าการชุมนุมของทั้งสองกลุ่มจะเกิดการปะทะกันยาก หากผู้ชุมนุม นปช.ไม่มีการเคลื่อนพลเข้ามาในกรุงเทพฯ ซึ่งสถานการณ์ในกรุงเทพฯตอนนี้แตกต่างจากปี 2553 ที่ นปช.เคยตั้งเวที คนในกรุงเทพฯไปร่วมชุมนุมกับ กปปส.เยอะ ดังนั้นการเคลื่อนตัวเข้ามาอาจจะมีการกระทบกระทั่งกัน นอกจากนี้อาจจะรุนแรงด้วยมือที่ 3 อย่างไรก็ตาม มองว่าการชุมนุมของทั้งสองฝ่ายสามารถทำได้เพราะเป็นสิทธิ แต่อาจจะผิดกฎหมายเกี่ยวกับการจราจร เพราะมีการปิดถนน สร้างความเดือดร้อน
ส่วนเรื่องการปราศรัยของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. เกี่ยวกับการประกาศตัวเป็นรัฏฐาธิปัตย์นั้น พล.อ.เอกชัยมองว่า นายสุเทพมีความคิดเช่นนี้มานานแล้ว ไม่ได้ถือว่าพูดเร็วเกินไป ซึ่งโอกาสที่จะทำเรื่องนี้ให้ประสบความสำเร็จไม่ได้ง่าย และตอนนี้ก็มีการพยายามตีความกันเป็นการล้มล้างการปกครอง หรือเป็นรัฐศาสตร์รูปแบบหนึ่ง แต่ในความจริง คือ การปฏิวัติทางภาคประชาชน โดยการนำอำนาจกลับมาคืนที่ประชาชนและประชาชนเป็นผู้บริหารประเทศเอง แม้หลังการปราศรัยของนายสุเทพเสร็จสิ้น จะมีการออกมาชี้แจงพยายามเลี่ยง เพื่อไม่ให้ความคิดว่าจะเป็นการล้มล้างการปกครอง แต่อย่างไรแม้นายสุเทพไม่ได้พูดโดยตรงว่าเป็นการปฏิวัติ แต่ก็เป็นความพยายามต้องการให้เกิดช่องว่าง เมื่อมีช่องว่างจะได้มีภาคประชาชนไปยึดอำนาจของรัฐ และจึงเรียกว่ารัฏฐาธิปัตย์ มองว่าการทำอย่างนี้สุ่มเสี่ยงเพราะขณะนี้ดีเอสไอ รัฐบาล ได้มีการไปยื่นหลักฐานที่แสดงว่า ทาง กปปส.พยายามล้มล้างการปกครอง และต่อไปทาง กปปส.ก็ต้องสู้ว่าจริงหรือไม่
สำหรับการเมืองไทยหลังจากนี้จะมีทิศทางอย่างไรนั้น พล.อ.เอกชัยวิเคราะห์ว่า การเมืองหลังจากนี้จะยืดเยื้อไปอีก 3-6 เดือน เพราะแม้จะมีการเลือกตั้ง ส.ว.ไปแล้ว 58 คน แต่ก็ยังไม่ครบ ซึ่งกว่าจะครบน่าจะใช้เวลาพอสมควร
ส่วนในช่วงสิ้นเดือนนี้ก็จะต้องมีการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ต้องรอดูว่า กกต.ต้องการให้การเลือกตั้งสำเร็จหรือไม่ ถ้าต้องการให้การเลือกตั้งสำเร็จมันก็สำเร็จ ด้านการชุมนุม กปปส.ก็ไม่สามารถหยุดได้ เพราะหากหยุดเมื่อไหร่ต้องโดนดำเนินคดี และหนทางเดียวของ กปปส.ที่จะสำเร็จ คือทำให้รัฐธรรมนูญหยุดเดิน การชัตดาวน์กรุงเทพฯที่ผ่านมาก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ตอนนี้คือต้องการให้มีสุญญากาศ มีช่องว่างเกิดการปฏิวัติ อย่างไรก็ตามหากทำได้จริงต้องมีสงครามกลางเมือง เพราะ นปช.ประกาศชัดส่งสัญญาณเตรียมบุกเข้ากรุงเทพฯ และการเกิดสุญญากาศจะทำให้การทำงานในภาพรวมส่วนราชการไม่มีคนสั่งการ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร หรือข้าราชการทั้งหมด และเมื่อมีเหตุลุกลามบานปลายก็ไม่มีใครคุมได้ ส่วนหลังจากนี้หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนายกฯต้องสิ้นสภาพ ก็จะมีการตีความอีกหลายอย่าง เช่น ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจ รัฐบาลไม่ได้อยู่ในตำแหน่งอยู่แล้ว เป็นเพียงรักษาการ ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินได้อย่างไร
แต่ทั้งนี้เชื่อว่าคำตัดสินออกมาอย่างไรรัฐบาลต้องปฏิบัติตามเพราะหากขัดขืนก็จะโดนดำเนินคดียุบพรรคต่อไป
(ที่มา:มติชนรายวัน 9 เมษายน 2556)