นายทรงภพ พลจันทร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยกับว่า ขณะนี้กรมฯอยู่ระหว่างเร่งพิจารณารายละเอียดปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกรณีของการต่ออายุสัมปทานการผลิตปิโตรเลียมของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ในอ่าวไทยที่ผลิตก๊าซธรรมชาติอยู่ประมาณ 1.2 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันและน้ำมันดิบประมาณ 4 หมื่นบาร์เรลต่อวัน จะหมดอายุลงในอีก 8 ปีข้างหน้าหรือช่วงปี 2565 ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ว่าจะไม่สามารถต่ออายุสัมปทานได้อีก ทำให้ต้องมาพิจารณาว่า เมื่อหมดอายุสัมปทานแล้วจะมีการต่ออายุสัมปทานให้อีกหรือไม่ หรือจะต้องดำเนินการเปิดประมูลใหม่ ซึ่งจะต้องมีการศึกษาในรายละเอียดถึงผลดีและผลเสียที่เกิดขึ้นด้วย
ทั้งนี้ การปรับปรุง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมดังกล่าวจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จหรือเห็นภาพชัดเจนภายใน 1-2 ปีนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีระยะเวลาเตรียมตัว ซึ่งจากประสบการณ์ของต่างประเทศได้มีการประกาศล่วงหน้าไว้ถึง 5 ปี ก่อนที่อายุสัมปทานจะหมดลง เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนและมีระยะเวลาเตรียมตัวที่จะตัดสินใจลงทุนผลิตปิโตรเลียมหรือไม่ หากไม่มีความชัดเจนในข้อกฎหมายเกิดขึ้น จะส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่มีเวลาเตรียมตัวพอและอาจจะถอนการลงทุนออกไปได้
โดยเห็นได้ชัดอย่างกรณีของบริษัท เชฟรอน ที่ตัดสินใจลงทุนก่อสร้างท่าเรือและศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย ที่อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อ 5-6 ปีก่อน ซึ่งได้ทำรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรืออีเอชไอเอ อย่างต่อเนื่อง มีการพบปะพูดคุยกับชาวบ้านและผู้มีส่วนได้เสียที่อยู่ในพื้นที่และชุมชนใกล้เคียงในโครงการ ซึ่งครอบคลุมทุกสาขาอาชีพ ไม่ต่ำกว่า 2,000 ครั้ง มีประชาชนเข้าร่วมมากกว่า 70,000 คน ทั้งในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตรตามที่กฎหมายกำหนดและพื้นที่นอกเขต 5 กิโลเมตร ผ่านกฎหมายทุกขั้นตอน จนกระทั่งได้รับการยอมรับจากประชาชน นำไปสู่การได้รับความเห็นชอบด้านอีไอเอของโครงการ
นายทรงภพ กล่าวอีกว่า แม้การทำอีเอชไอเอจะผ่านความเห็นชอบแล้วก็ตาม แต่มีระยะเวลานานถึง 5 ปี จึงทำให้เชฟรอนประกาศยุติโครงการดังกล่าวเมื่อปี 2555 ด้วยเหตุผลความไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เนื่องจากอายุสัมปทานของแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทยเหลือไม่ถึง 10 ปี และหากลงทุนไปแล้วก็ยังไม่ทราบว่าจะได้ต่ออายุสัมปทานอีกหรือไม่ ทำให้เชฟรอนต้องถอนโครงการออกไป ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนท่าศาลา
ทั้งนี้ สิ่งที่กังวลขณะนี้หากข้อกฎหมายยังไม่มีความชัดเจน และเชฟรอนถอนการผลิตก๊าซฯจากอ่าวไทยออกไป จะส่งผลให้ปริมาณก๊าซหายไปจากระบบประมาณ 1.2 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือครึ่งหนึ่งของกำลังผลิตที่ผลิตได้ ผลที่ตามมาจะทำให้ประเทศต้องนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีจากต่างประเทศเข้ามาจำนวนมากเพื่อมาทดแทน ซึ่งมีราคาสูงกว่า 2-3 เท่า จะทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในราคาที่สูงขึ้นตาม และประเทศจะมีความเสี่ยงด้านความมั่นคงพลังงานเกิดขึ้นสูงตามมาด้วย
.............................................................