นายยุทธพร อิสรชัย
ประธานกรรมการประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ต้องฟังประธาน กกต.เเละผู้ตรวจการเเผ่นดินในการที่จะไปให้การไต่สวน ผมเห็นว่าเรื่องนี้อยู่นอกกรอบอำนาจของศาลพอสมควรเพราะว่าการที่ ผู้ตรวจการแผ่นดินไปร้องตามมาตรา 254 ทั้งที่อำนาจผู้ตรวจการฯ มีอยู่เเค่ 2 เรื่องเท่านั้น 1.คือร้องว่ากฎหมายใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ 2.การร้องว่ามีการทำทุจริตเกิดขึ้น
ถามว่าถ้าไปร้องเเล้วศาลตัดสินว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ คือพระราชกฤษฎีกาที่ออกมาขัดกับรัฐธรรมนูญ จะเกิดปัญหาเเละความยุ่งยากทันที เพราะ พ.ร.ฎ.ฉบับนี้ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องของการเลือกตั้งเท่านั้น เเต่พูดถึงการยุบสภาไว้ด้วย เพราะฉะนั้นเท่ากับว่าเราต้องคืนสถานะ ส.ส.ให้กับ 500 คนที่ถูกยุบสภาไปหรือไม่ เนื่องจากถือว่า พ.ร.ฎ.ขัดรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นศาลเองต้องพินิจพิเคราะห์อย่างรอบคอบในการตัดสิน เพราะถ้าศาลตัดสินออกมามันไม่ได้ทำให้เเค่การเลือกตั้งโมฆะเเต่ว่าจะกลับไปสู่สถานะภาพของสภาที่ถูกยุบไปด้วย
หากบอกว่ากฎหมายฉบับนี้ขัดรัฐธรรมนูญ แปลว่าการยุบสภาก็ไม่เกิดขึ้นด้วย เพราะถ้าตก มันก็ต้องตกหมดทั้งฉบับ จะบอกว่าตกเฉพาะเรื่องเลือกตั้งไม่ตกเรื่องยุบสภา ก็คงไม่ได้เพราะอยู่ในกฎหมายฉบับเดียวกัน ถ้ากฎหมายขัดรัฐธรรมนูญก็ต้องขัดทั้งฉบับ อย่างไรก็ตามต้องถามว่ามันจะขัดอย่างไร ในเมื่อที่ผ่านมาเวลายุบสภาเราก็ใช้วิธีการนี้ ในการออก พ.ร.ฎ.เเละกำหนดวันเลือกตั้ง ก็ไม่เห็นว่าจะขัดรัฐธรรมนูญตรงไหน
ทั้งนี้ก็ยังแปลกใจว่าศาลรับเรื่องนี้เข้าไปได้อย่างไร ทั้งที่อยู่นอกเหนืออำนาจผู้ตรวจการแผ่นดิน
ขณะเดียวกัน กรณีคู่ขัดเเย้งทั้งรัฐบาลเเละ กปปส.ไม่รับข้อเสนอจาก 6 องค์กรอิสระ คิดว่าข้อเสนอที่ออกมาไม่ใช่เรื่องใหม่เเละเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงมาตลอด 3-4 เดือนที่ผ่านมา คือกระบวนการที่มีกรอบอยู่ 4 เรื่องใหญ่ คือ 1.การเลือกตั้ง 2.การปฏิรูปประเทศ 3.รัฐบาลกลาง 4.การยุติความรุนเเรง
ฉะนั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่รัฐบาลเเละ กปปส.จะไม่รับข้อเสนอ ส่วนกรอบวิธีการ 6 ข้อในการเจรจา ปกติก็เป็นเเนวทางที่สังคมพึงปรารถนาอยู่เเล้วในการเจรจา เเต่ประเด็นคือว่า ทั้ง 6 องค์กรเอามาจัดเรียงให้ชัดเจนขึ้น เเต่เพียงคู่ขัดเเย้งทั้ง 2 ฝ่าย มีการรับรู้ เป้าหมายทางการเมืองเเละวิธีการทางการเมืองที่ต่างกัน ทำให้ความขัดเเย้งลดลงได้ยาก เเละนำไปสู่การเจรจาก็เกิดขึ้นได้ยากเช่นกัน จึงไม่น่าแปลกใจที่ทั้งสองฝ่ายจะไม่รับข้อเสนอ
อย่างไรก็เเล้วเเต่คิดว่าการเจรจายังมีโอกาสเกิดขึ้นได้ เเต่เมื่อใดที่การเจรจาในประเทศนั้นไม่สามารถเจรจาได้ อาจมีความจำเป็นที่ต้องมีองค์กรระหว่างประเทศหรือคนที่มีความสำคัญในโลกมาเป็นคนกลาง
นายพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ถ้าศาลตัดสินให้การเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์เป็นโมฆะ มองว่าจะไม่มีทางออกใดเลย จะมีแต่ผลกระทบคือประชาชนที่ออกไปใช้สิทธิใช้เสียงในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ จะมีการตั้งคำถามกับศาลและการพิจารณาของศาล อีกทั้งยังเป็นเรื่องที่สั่นคลอนความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้คนมองว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองเอง ไม่ใช่ตัวกลางที่จะมาตัดสินปัญหา ซึ่งที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญถูกตั้งคำถามจากคนกลุ่มหนึ่งค่อนข้างมากจากการทำหน้าที่ ถ้าครั้งนี้ศาลตัดสินให้เป็นโมฆะสุ่มเสี่ยงกับการที่จะถูกสังคมและคนที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งตั้งคำถามว่า ทำไมศาลทำหน้าที่แบบนี้ ซึ่งเป็นลักษณะการเข้าไปลิดรอนการไปใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชนที่ถูกรับรองสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความไม่พอใจและเกิดเป็นความรุนแรงในที่สุด
ตามหลักรัฐธรรมนูญไม่สามารถสั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้ ประเด็นการเลือกตั้งไม่เป็นวันเดียวนั้น ความจริงมีการจัดการเลือกตั้งเป็นวันเดียวกันอยู่แล้ว คือวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ประเด็นคือ 28 เขตเป็นผลสืบเนื่องจากวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งตาม พ.ร.ก. ซึ่งยังมีผลตามกฎหมายอยู่ ส่วนการเสนอให้มีการจัดการเลือกตั้งใน 28 เขตที่ยังไม่มีผู้สมัคร ตรงนั้นเป็นเพียงการแก้ไขข้อบกพร่องในวันที่ 2 กุมภาพันธ์เท่านั้นไม่ใช่การกำหนดวันเลือกตั้งใหม่
ในประเด็นการนับคะแนนเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ทำให้การเลือกตั้งในวันหลังทราบผลการเลือกตั้งแล้ว อาจจะส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิการเลือกตั้งในภายหลังได้นั้น ถ้ามองในเชิงข้อเท็จจริง การประกาศคะแนนเลือกตั้งยังประกาศไม่ครบทุกเขต ทำให้ยังไม่ทราบผลอย่างเบ็ดเสร็จ ตรงนี้คุณจะบอกว่าส่งผลจูงใจให้คนที่จะลงคะแนนเลือกพรรคนี้ พรรคนั้นไม่ได้ ในเชิงกฎหมาย กกต.ยังไม่ได้ประกาศรับรองผลอย่างเป็นทางการตามกฎหมาย
ส่วนตัวมองว่าตรงนี้ยังไม่มีการประกาศผล ไม่มีความผิดปกติใดๆ ที่จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้เป็นโมฆะได้ แต่การกำหนดให้มีการใช้สิทธิตรงนี้เพราะการเลือกตั้งที่ผ่านมามีลักษณะการขัดขวางการเลือกตั้งของผู้ชุมนุม และต่อให้มองว่าลักษณะการกำหนดวันเลือกตั้งมีลักษณะให้ประชาชนล่วงรู้ผลลงคะแนนทำให้การลงคะแนนไม่เป็นอิสระ ไม่เป็นความลับจริงตามกฎหมายศาลก็ไม่สามารถที่จะสั่งล้มกระบวนการการเลือกตั้งทั้งหมดของประเทศได้
ที่ผ่านมาการเลือกตั้งทั้งประเทศส่วนใหญ่มีการลงคะแนนเสียงไปโดยไม่มีปัญหา จะมีปัญหาจริงๆ แค่เพียงส่วนเดียว สิ่งที่ศาลทำได้มากที่สุดคือให้การเลือกตั้งที่มีการกำหนดไว้ประมาณ 2 ล้านคะแนน อย่าไปเลือกตั้ง แต่ศาลจะไม่สามารถสั่งเพิกถอนกระบวนการเลือกตั้งได้ เพราะตามกฎหมายส่วนไหนที่เสียก็จัดการที่เสีย แต่ส่วนที่ดี ที่ลงเสียงถูกต้อง ตามหลักกฎหมาย ด้วยความชอบธรรมศาลจะยุ่งไม่ได้
นายประจักษ์ ก้องกีรติ
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เราคาดเดาไม่ได้ล่วงหน้าว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยออกมาทางใด ซึ่งการวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ไม่เป็นโมฆะ มีสาเหตุ (น้ำหนัก) มากกว่าจะโมฆะ
มองว่า 2 กุมภาพันธ์ เป็นการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย ไม่มีอะไรผิดปกติ จริงๆ แล้วท่ามกลางความวุ่นวาย มีความพยายามขัดขวางการเลือกตั้ง แต่ยังมีคนออกไปเลือกตั้งเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นการแสดงเจตนารมณ์ชัดเจน
แต่หากศาลวินัจฉัยว่าโมฆะ เหมือน ?โมฆะกลางทาง? ในแง่กระบวนการทางการเมืองมันยังไม่เสร็จสิ้น สิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ ผลทางการเมือง ซึ่งการวินิจฉัยทางนี้เท่ากับทำลายสิทธิทางการเมืองของคนที่ออกไปเลือกตั้ง หากเหตุผลไม่น่ารับฟัง เหตุผลไม่หนักแน่น หรือศาลอธิบายไม่ได้ว่าทำไมตัดสินทางนี้ เพราะมันเป็นการทำเสียงของคนที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งให้ไม่มีความหมาย ทางออกที่ทำให้เราพ้นจากภาวะสุญญากาศซึ่งไม่มีประโยชน์ต่อฝ่ายใดในขณะนี้ คือ การจัดการเลือกตั้งให้เรียบร้อยซึ่งตอนนี้มันยังไม่สิ้นกระบวนการนั้น ตอนนี้มันแปลก เพราะไม่รู้ว่าแต่ละเขตที่ไม่มีผู้ลงสมัครหรือที่ยังไม่จัดการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ส่วนการที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ลงเลือกตั้งก็จะเกิดผลกับเขาเอง ต้องตอบคำถามสังคมว่าทำไมตัวเองถึงบอยคอต
ส่วนกรณีการรวมตัวของ 6 องค์กรอิสระเพื่อเสนอทางออก ซึ่งฝ่าย กปปส.และรัฐบาลไม่ยอมรับนั้น มองว่าเป็นเพราะทั้ง 6 องค์กรไม่มีอำนาจมาเป็นตัวกลาง ซึ่งในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือบรรทัดฐานที่ทำมาในอดีต รวมถึงประวัติศาสตร์นั้นไม่เคยเกิดกรณีแบบนี้ ฉะนั้นมันเลยไม่มีความน่าเชื่อถือเพราะหน้าที่ของ 6 องค์กรมันชัดเจนตามกฎหมายอยู่แล้ว การลุกขึ้นมาเป็นตัวกลางมันไม่ใช่
สิ่งที่ง่ายที่สุดคือควรทำหน้าที่ของตัวเองที่ได้รับมอบหมายตามรัฐธรรมนูญอย่างตรงไปตรงมา เช่น กองทัพปฏิบัติต่อทุกกลุ่มอย่างเสมอภาคกัน ใครละเมิดความมั่นคงของรัฐก็ควรได้รับการปฏิบัติอย่างเดียวกัน ไม่แสดงออกว่าเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจนออกนอกหน้า
..............
ที่มา:มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 19 มีนาคม 2557