ย้อนความทรงจำงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกลางอ่าวไทย กับช่างเทคนิคปิโตรเลียมรุ่นแรก
หนึ่งในฟันเฟืองสำคัญของภารกิจจัดหาปิโตรเลียมจากอ่าวไทย เพื่อนำมาผลิตเป็นพลังงานที่ใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศมาอย่างต่อเนื่องจากอดีตจนถึงปัจจุบันคือ ช่างเทคนิคปิโตรเลียม ผู้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ ณ แท่นผลิตปิโตรเลียมกลางทะเล ท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันท้าทาย
ในยุคบุกเบิกการสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเป็นครั้งแรกที่แหล่งเอราวัณ เมื่อ 36 ปีที่แล้วนั้น อาชีพสาขานี้นับเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย ผู้ดำเนินการของแหล่งเอราวัณสมัยนั้น ซึ่งปัจจุบันคือ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จึงจัดตั้ง ศูนย์เศรษฐพัฒน์ ขึ้นที่จังหวัดสงขลา เพื่อพัฒนาช่างเทคนิคปิโตรเลียมชาวไทย เพื่อจะส่งไปปฏิบัติงาน ณ แหล่งเอราวัณ
การทำงานในยุคบุกเบิกอุตสาหกรรมพลังงาน ณ แหล่งเอราวัณ ซึ่งได้รับการขนานนามว่า “โรงเรียนกลางอ่าวไทย” จะท้าทายขนาดไหน หนึ่งในผู้ที่จะให้คำตอบได้ดีที่สุดคือ บุญล้อม เส็งสำราญ อดีตผู้จัดการฐานผลิตเอราวัณ ช่างเทคนิคปิโตรเลียมรุ่นบุกเบิก ที่มีประสบการณ์การทำงานจัดหาพลังงานกลางทะเลกว่า 30 ปี นั่นเอง
บุญล้อม ถือเป็นชาวไทยชุดแรกหนึ่งใน 45 คน ที่ผ่านการคัดเลือกเข้ารับการฝึกอบรมด้านปิโตรเลียมและเทคโนโลยี ณ ศูนย์เศรษฐพัฒน์ เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2523 โดยใช้ระยะเวลาการฝึกอบรม 1 ปี ก่อนที่จะลงไปปฏิบัติงาน ณ แหล่งเอราวัณ ในปี 2524 ซึ่งเป็นปีที่เอราวัณเริ่มผลิตก๊าซธรรมชาติเชิงพาณิชย์เป็นครั้งแรก จุดเริ่มต้นยุคโชติช่วงชัชวาลของพลังงานไทย
บุญล้อมรับหน้าที่ในส่วนของกระบวนการผลิต ครอบคลุมตั้งแต่หัวหลุมหลุมผลิตกระทั่งนำก๊าซเข้าสู่กระบวนการผลิต ซึ่งเป็นงานที่ต้องอาศัยทั้งทักษะ ความสามารถ ความละเอียดรอบคอบในการควบคุมระบบการผลิตทั้งหมด เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด และควบคุมให้ก๊าซที่นำส่งจะต้องมีปริมาณและมาตรฐานตรงตามเงื่อนไขในสัญญาที่ทำไว้กับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือ ปตท. ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผู้รับซื้อก๊าซอีกด้วย
บุญล้อมเล่าว่างานในช่วงแรกส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการติดตั้งแท่นผลิต การวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติให้พร้อมรองรับการผลิต โดยก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณจะส่งผ่านท่อก๊าซใต้ทะเลมายังโรงแยกก๊าซที่มาบตาพุด จ.ระยอง ของ ปตท. เพื่อป้อนให้กับโรงไฟฟ้าบางปะกงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.
อย่างไรก็ดีการจะนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ประโยชน์ในยุคนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายและมีความเสี่ยงไม่น้อย กระบวนการต่างๆ ต้องใช้คนปฏิบัติเป็นหลักเพราะเทคโนโลยีสมัยนั้นไม่พัฒนาเท่าตอนนี้ เช่น หากต้องการจะปรับวาล์วที่ควบคุมการผลิตก๊าซของแท่นหลุมผลิตที่อยู่ไกลออกไป ก็จะต้องนั่งเรือออกไปยังแท่นนั้นเพื่อหมุนวาล์วควบคุม ซึ่งมีความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติโดยเฉพาะในหน้ามรสุม ในขณะที่ปัจจุบันกระบวนการผลิตควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์จากแท่นผลิตกลาง โดยไม่ต้องไปที่แท่นหลุมผลิตจริง ซึ่งช่วยประหยัดเวลา เพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการทำงาน
บุญล้อมเน้นย้ำว่าหัวใจของการทำงานกลางทะเลในทุกยุคสมัยนั้นอยู่ที่ ‘คน’ โดยกล่าวว่า “แม้มีเทคโนโลยีทันสมัย แต่ยังต้องทำการผลิต 24 ชั่วโมง ตราบใดที่มีการผลิต ตราบนั้นก็ต้องมีคน เพราะถ้าเครื่องมือมีปัญหา คนจะต้องเข้าไปแก้ไข แต่อาจไม่ต้องใช้มากเหมือนแต่ก่อน เช่นในอดีตหากติดตั้งแท่น 1 แท่น ต้องจ้างคนเพิ่มอีก 2 คน แต่เทคโนโลยีช่วยให้ใช้คนทำงานน้อยลง ช่วยลดต้นทุน ลดความเสี่ยงของคนทำงานได้”
ความภาคภูมิใจได้ร่วมสร้างความมั่นคงพลังงานไทย
จากจุดเริ่มต้นในตำแหน่งช่างเทคนิคปิโตรเลียม บุญล้อมสั่งสมความรู้และประสบการณ์ในการทำงานจัดหาพลังงานในอ่าวไทยกับเชฟรอนกว่า 30 ปี ก่อนที่จะเกษียณอายุในตำแหน่ง ‘ผู้จัดการแหล่งผลิตเอราวัณ’ ในปี 2557 และได้รับการต่ออายุการทำงานในหน้าที่ผู้จัดการศูนย์เศรษฐพัฒน์ เพื่อถ่ายทอดความรู้ความเชี่ยวชาญจากประสบการณ์การทำงานอันล้ำค่าให้กับช่างเทคนิคปิโตรเลียมรุ่นใหม่ ก่อนที่จะเกษียณจริงๆ ในปี 2559
สิ่งที่ทำให้บุญล้อมสามารถทำงานในอ่าวไทยภายใต้ความเสี่ยงและความกดดันรอบตัวเช่นนี้ได้กว่า 3 ทศวรรษ หาใช่เพียงค่าตอบแทนในรูปของตัวเงินและสวัสดิการต่างๆ แต่คือความภาคภูมิใจในองค์กร ซึ่งบุญล้อม ชี้ให้เห็นว่าเชฟรอนมี 3 สิ่ง ที่ทำให้เขาภาคภูมิใจและพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในความมุ่งมั่นของการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทย นั่นคือ “คุณภาพ คุณค่า คุณธรรม”
คุณภาพ คือการบริหารจัดการองค์กรอย่างมีคุณภาพ มีความโปร่งใส มี Vision Mission และ Value ที่จะส่งต่อค่านิยมองค์กรสู่เป้าหมาย คุณค่า คือผลผลิตพลังงานที่จัดส่งให้ประเทศไทย ที่มีความสำคัญต่อชีวิต ความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ เพราะแหล่งเอราวัณผลิตต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ไม่เคยหยุดพัก และบริษัทยังนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี เข้ามาถ่ายทอดสู่บุคลากร สร้างคุณค่าให้คนไทยได้มีความรู้ด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม คุณธรรม คือบริษัทไม่เคยเอาเปรียบพนักงาน โดยใช้เงินลงทุนมหาศาลนำเข้าความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อสร้างระบบที่ปลอดภัยต่อการทำงานของพนักงาน ผลลัพธ์ที่ได้ไม่เพียงสร้างขวัญกำลังใจให้แก่พนักงาน แต่ยังคลายความกังวลห่วงใยให้แก่ครอบครัวที่อยู่บนฝั่งด้วย
...แม้วันนี้ บุญล้อมจะเกษียณการทำงานบนแท่นกลางทะเลและการเป็นครูต้นแบบให้กับช่างเทคนิคปิโตรเลียม แต่คนบนแท่นอีกจำนวนมาก ก็ยังคงทำหน้าที่ของพวกเขาต่อไป บุญล้อมเชื่อว่าด้วยวัฒนธรรมองค์กระและการมุ่งพัฒนาศักยภาพบุคลากรอย่างต่อเนื่อง จะทำให้พลังคนรุ่นแล้วรุ่นเล่าของเชฟรอน จะยังคงเป็นฟันเฟืองสำคัญขับเคลื่อนการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณให้มีความต่อเนื่อง ไม่เกิดการสะดุดหรือหยุดผลิต จนเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความมั่นคงทางพลังงานและการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป...