ReadyPlanet.com


นักวิชาการมวล. ลงพื้นที่ ให้ความรู้เรื่องโรคพืชแก่เกษตรกร


นักวิชาการมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) ลงพื้นที่สำรวจ ให้ความรู้ พร้อมแนะนำแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับโรคพืชให้แก่เกษตรกร ใน 6 อำเภอ ของจังหวัดนครศรีธรรมราช
 

รองศาสตราจารย์ ดร.วาริน อินทนา หัวหน้าหน่วยวิจัยไม้ผลเขตร้อน สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า ในพื้นที่ภาคใต้โดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราช เกษตรกรมีการปลูกไม้ยางพารา ไม้ผลและพืชเศรษฐกิจจำนวนมาก แต่เกษตรกรยังพบปัญหาการระบาดของเชื้อราโรคพืชต่างๆ ทำให้ได้รับความเสียหายอย่างมากและเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในระยะ 6 เดือนที่ผ่านมา ทางทีมงานหน่วยวิจัยไม้ผลเขตร้อนจึงได้ร่วมมือกับคลินิกเทคโนโลยี ม.วลัยลักษณ์ ลงพื้นที่สำรวจ ให้ความรู้ ให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับโรคพืชให้แก่เกษตรกร
 

จากการลงพื้นที่ใน 6 อำเภอ ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แก่ อำเภอท่าศาลา นบพิตำ ลานสกา ปากพนัง ทุ่งสง และอำเภอหัวไทร พบว่า โรคพืชที่พบในพื้นที่ต่างๆ แตกต่างกันไป โดยในพื้นที่ที่มีการปลูกยางพารามาก เช่น อ.ท่าศาลา นบพิตำ ลานสกาและทุ่งสง จะพบปัญหาโรครากขาว (white root disease) ในต้นยางพารา ซึ่งเกิดจากเชื้อรา Rigidoporus microporus มีผลทำให้ต้นยางพารามีอาการใบเหลืองซีด หากโรครุนแรงใบจะร่วง กิ่งแห้งตายและอาจส่งผลให้ต้นยางยืนต้นตายได้
 

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขด้วยวิธีการฉีดสารเคมีในสวนยางพาราจะไม่ได้ผลเท่าที่ควรเนื่องจากเชื้อโรคดังกล่าวอาศัยอยู่ในดิน แต่วิธีการใช้เชื้อจุลินทรีย์ เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา (Trichoderma spp.) ฉีดพ่นบนต้นยางพาราและในดิน ทำให้เกิดกลไกการต่อสู้กับเชื้อราโรคพืชที่อยู่ในดิน จะได้ผลดีกว่า ถึงแม้จะได้ผลช้าแต่ถือเป็นวิธีการที่ยั่งยืน
 

ในส่วนของไม้ผลและพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ เช่น ทุเรียน มังคุด มะนาวและส้มโอ จะพบโรครากเน่าโคนเน่า (root and stem rot) ที่เกิดจากเชื้อรา Phytophthora spp. ซึ่งเชื้อราชนิดนี้ถือว่าอันตรายอย่างมากต่อกลุ่มไม้ผลและไม้ยืนต้นเพราะสามารถทำให้ต้นพืชที่โตแล้วยืนต้นตาย นอกจากนี้ ยังพบปัญหาโรคกุ้งแห้งในพริกชี้ฟ้า ส่งผลให้ผลของพริกเป็นแผล มีสีดำและร่วง สร้างความเสียหายให้เกษตรกรในพื้นที่อำเภอหัวไทรอย่างมากเช่นกัน
 

รองศาสตราจารย์ ดร.วาริน กล่าวต่อไปอีกว่า นอกจากการลงพื้นที่สำรวจโรคพืชแล้ว ยังมีการให้ความรู้ในหัวข้อการผลิตพืชต้นทุนต่ำและปลอดภัยต่อผู้บริโภค การฟื้นฟูต้นพืชหลังภาวะน้ำท่วมขัง การเลี้ยงเชื้อราไตรโคเดอร์มาที่สะดวกและประหยัดเพื่อควบคุมโรคพืช ซึ่งได้รับความสนใจจากเกษตรกรรวมทั้งสิ้นกว่า 300 คน โดยหลังจากนี้อีกประมาณ 2 เดือนจะมีการติดตามผลว่า เกษตรกรนำความรู้ไปใช้จริงหรือไม่ และได้ผลอย่างไร
 

ทั้งนี้หากเกษตรกรท่านใดประสบปัญหาด้านโรคพืชหรือการปลูกพืช สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ หน่วยวิจัยไม้ผลเขตร้อน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โทรศัพท์ 075-673523 ในวันและเวลาราชการ



ผู้ตั้งกระทู้ pr.วลัยลักษณ์ :: วันที่ลงประกาศ 2013-03-07 11:22:48


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



สำนักข่าวนครโพสต์ เลขที่ 5/1 ซ.อัศวรักษ์ 1 ถ.ราชดำเนิน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช 80000 โทร.075-320227 โทรสาร 075-320716 อีเมลล์ : nakhonpost@hotmail.com