![]() |
|
ม.วลัยลักษณ์ ผลิตยาแก้อาการน้ำกัดเท้า ช่วยน้ำท่วม | |
สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช ผลิตยาขี้ผึ้งวิตฟิลด์แก้อาการน้ำกัดเท้า ส่งไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลาง เภสัชกรหญิง ดร.จิราพร ชินกุลพิทักษ์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า เนื่องจากเกิดภาวะอุทกภัยในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ทำให้มีผู้ประสบภัยที่ต้องอยู่ท่ามกลางภาวะน้ำท่วมขังเป็นเวลานานเป็นโรคน้ำกัดเท้าจำนวนมาก สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ โดยความร่วมมือของคณาจารย์ นักวิทยาศาสตร์ บุคลากร และนักศึกษา จึงได้ร่วมกันดำเนินการผลิตยารักษาอาการน้ำกัดเท้า ณ ห้องปฏิบัติการผลิตยา ม.วลัยลักษณ์ และได้บรรจุลงตลับพร้อมส่งไปบรรเทาความเดือดร้อน โดยในเบื้องต้นมีการผลิตไปแล้วจำนวน 5,000 ตลับและจัดส่งไปยังพื้นที่ประสบภัยแล้ว ทั้งนี้มีแผนในการผลิตยาดังกล่าวรวมทั้งสิ้น 10,000 ตลับ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เครือข่ายเภสัชศาสตร์เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ(คภ.สสส.) และขอรับบริจาคจากภาคเอกชนต่างๆ และผู้มีจิตศรัทธาในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช สำหรับยารักษาอาการน้ำกัดเท้าที่ม.วลัยลักษณ์จัดทำขึ้นมีชื่อว่า ยาขี้ผึ้งวิตฟิลด์ มีส่วนประกอบสำคัญคือ Benzoic acid ซึ่งมีฤทธิ์ต้านเชื้อราและฆ่าเชื้อก่อโรคชนิดอื่นๆ และ Salicylic acid มีฤทธิ์ทำให้ผิวหนังหลุดลอก และยังมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรียและฆ่าเชื้อราอีกด้วย การใช้ Benzoic acid ร่วมกับ Salicylic acid จะช่วยเสริมฤทธิ์ในการต้านเชื้อราส่งผลให้ประสิทธิภาพในการต้านเชื้อราดีขึ้นและสามารถป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนที่อาจพบภายหลังจากการติดเชื้อราที่ผิวหนังได้ นอกจากนี้ยาขี้ผึ้งวิตฟิลด์ยังมีคุณสมบัติในการชะล้างด้วยน้ำได้ยาก มีความเหนียวหนืดสูง ซึ่งเมื่อทายาแล้วสามารถติดผิวได้ดี ซึ่งจะทำหน้าที่ในการเคลือบป้องกันไม่ให้ผิวหนังถูกรบกวนจากสิ่งแวดล้อมภายนอกโดยเฉพาะสารก่อความระคายเคืองที่มากับน้ำ และยังช่วยรักษาสมดุลความชื้นของผิวหนังในสิ่งแวดล้อมไม่เหมาะสมกับผิวหนังอีกด้วย เภสัชกรหญิง ดร.จิราพร กล่าวต่อถึงข้อแนะนำและวิธีใช้ยาขี้ผึ้งวิตฟิลด์ ว่า ควรทำความสะอาดเท้าและเช็ดให้แห้งก่อนทา โดยทาบริเวณที่มีอาการวันละ 2-3 ครั้ง โดยให้ทายาอย่างต่อเนื่องจนกว่ารอยโรคที่ผิวหนังจะหายเป็นปกติและให้ใช้ยาทาต่อเนื่องอีกอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ และควรหลีกเลี่ยงการทายาในบริเวณที่มีแผลเปิด นอกจากนี้ผู้ประสบภัยที่อยู่ในภาวะน้ำท่วมขังต้องพยายามหลีกเลี่ยงการแช่น้ำเป็นเวลานานๆ และพยายามทำให้ผิวหนังแห้ง ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาให้ปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้ยาข้างต้น สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีนโยบายในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยนอกจากยาดังกล่าวซึ่งร่วมกันทำด้วยจิตอาสาแล้ว ขณะนี้กำลังพัฒนาสูตรยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพรูปแบบอื่นๆ ได้แก่ ยาทาแก้คัน ยาทาถูนวด ยาทาสำหรับกันยุง เพื่อสำรองไว้ใช้เพื่อบรรเทาสาธารณภัยในเบื้องต้นสำหรับผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่างๆของประเทศต่อไปด้วย เภสัชกรหญิง ดร.จิราพร กล่าวในตอนท้าย | |
ผู้ตั้งกระทู้ prwalailak :: วันที่ลงประกาศ 2011-11-02 10:55:35 |
สำนักข่าวนครโพสต์ เลขที่ 5/1 ซ.อัศวรักษ์ 1 ถ.ราชดำเนิน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช 80000 โทร.075-320227 โทรสาร 075-320716 อีเมลล์ : nakhonpost@hotmail.com |
![]() |
Visitors : 466553 |